มลพิษในดิน (Soil Pollution)

สวัสดีครับวันนี้ #เพื่อนชุมชน อยากพาเพื่อนๆ ไปดูปัญหาของ #ดิน กันบ้าง ใครว่าดินไม่สามารถเป็นมลพิษได้ คุณอาจคิดผิดเเล้ว ไปดูกันเลยดีกว่าครับ ว่ามลพิษทางดินคืออะไร? เกิดจากอะไรบ้าง?

มลพิษในดิน (Soil Pollution) คือการเสื่อมถอยของคุณภาพดิน หรือภาวะการปนเปื้อนด้วยสารพิษ (Soil Pollutant) ในดินมากเกินไป ส่งผลให้คุณสมบัติของดินเกิดการเปลี่ยนแปลง จนเป็นอันตรายต่อความเป็นอยู่ และการเจริญเติบโตของทั้งคน สัตว์ และพืช อีกทั้งยังทำให้ดินไม่เหมาะสมในการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ด้วย

เเล้วมลพิษทางดินส่งผลกระทบอะไรบ้าง?
ดินที่ปนเปื้อนสารเคมีหรือสารพิษต่างๆนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต

ผลกระทบต่อมนุษย์
สารเคมีปนเปื้อนที่ตกค้างในดินส่วนใหญ่มักเป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายต่างๆ อย่างเช่น การสัมผัสดินที่มีเบนซิน (Benzene) และพอลิคลอริเนตไบฟีนีล (Polychlorinated Biphenyl: PCB) ตกค้างเป็นประจำ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งตับได้ นอกจากการสัมผัสสารพิษเหล่านี้โดยตรงแล้ว การนำพืชผลทางการเกษตรที่ปนเปื้อนโลหะหนักหรือสารเคมีต่างๆมาบริโภค ยังอาจทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ จากการสะสมทางชีวภาพ (Bioaccumulation) ในห่วงโซ่อาหาร เช่น ดินที่มีการปนเปื้อนของสารตะกั่วและปรอทเพียงเล็กน้อย สามารถสร้างผลเสียต่อการพัฒนาระบบประสาทและสมองของมนุษย์ รวมไปถึงเป็นอันตรายต่อตับและไตอีกด้วย

ผลกระทบต่อสัตว์
สารเคมีปนเปื้อนที่ตกค้างในดินยังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีลำตัวเป็นข้อปล้อง (Arthropod) และจุลินทรีย์ที่อยู่ในดิน และจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆเหล่านี้อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ ทำให้วงจรการบริโภคของสิ่งมีชีวิตต่างๆถูกทำลาย พืชหรือผู้ผลิตไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้บริโภคในแต่ละลำดับขั้นของห่วงโซ่อาหารขาดแหล่งอาหารที่สำคัญ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการตายหรือการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตภายในระบบนิเวศ

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
มลพิษในดินยังอาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและมลพิษในน้ำได้อีกด้วย จากการระเหยของสารเคมีตกค้างในดิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ขณะที่สารเคมีจำพวกไนโตรเจน (Nitrogen) และฟอสฟอรัส (Phosphorus) ที่ตกค้างในดิน เมื่อถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำบาดาล อาจทำให้น้ำเกิดการเน่าเสีย สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในน้ำ และกลายเป็นภัยอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่พึ่งพาแหล่งน้ำดังกล่าวในการบริโภค

หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า “ดินเสีย” เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์นั่นเอง
1.การทิ้งขยะและของเสียในย่านชุมชน ไม่ว่าจะเป็นขยะมูลฝอย ชิ้นส่วนพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ล้วนส่งผลให้ดินสูญเสียคุณสมบัติดั้งเดิม กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและทำลายความสวยงามของสภาพแวดล้อม

2.การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน สารเคมีเหล่านี้สามารถทำให้ดินมีสภาวะความเป็นกรดสูง มีสารพิษตกค้าง เช่น สารหนู (Arsenic) ทองแดง (Copper) และปรอท (Mercury) ซึ่งทำให้ดินกลายเป็นแหล่งสะสมสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ รวมไปถึงการเพาะปลูกที่ไม่ถูกวิธี เช่น การปล่อยให้หน้าดินพังทลายหรือถูกแสงแดดเป็นเวลานาน ล้วนส่งผลให้ดินเสื่อมโทรมและสูญเสียแร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช

3.การปล่อยน้ำเสียและการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงงานและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งผลให้สารเคมี เช่น สารพีซีบี (PCB) ที่ใช้ในการผลิตสีและพลาสติก และสารเอชซีบี (HCB) ที่ใช้ในการผลิตยางสังเคราะห์ รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จนเกิดสารเคมีปนเปื้อนและตกค้างอยู่ในตะกอนดิน รวมไปถึงมลพิษจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทุกชนิด ซึ่งทำให้ดินกลายเป็นแหล่งสะสมสารพิษแหล่งสุดท้ายในธรรมชาติ

ปัจจุบัน มลพิษในดินจัดเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ เนื่องจากเรายังต้องพึ่งพาอาศัยดินและธรรมชาติในการเพาะปลูกและสร้างผลผลิตทางการเกษตร เพื่อรองรับการเติบโตของประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี แหล่งอาหารสำคัญที่หล่อเลี้ยงโลกของเราล้วนมาจาก “ดิน” ดินที่ปลอดภัยและอุดมสมบูรณ์นะครับ

ขอบคุณที่มาดีๆ : เพจngthai