พลาสติกย่อยสลายได้ในธรรมชาติ

พระเอก หรือ ผู้ร้าย ในเกมการจัดการขยะ

ครบรอบหนึ่งปีที่ประเทศไทยเริ่มทดลองใช้นโยบายงดแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต หลังจากภาพของพลาสติกถูกวางตัวให้เป็นผู้ร้าย และกลายเป็นสิ่งที่นโยบายสาธารณะเลือกยิงทิ้งเป็นสิ่งแรกเพื่อหวังลดปัญหาขยะ หากแต่การแบนโดยปราศจากทางเลือกและมาตรการรองรับให้ผู้บริโภค ไม่อาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ความสัมพันธ์ของคนกับการใช้พลาสติกฝังรากลึกในชีวิตประจำวัน และยิ่งจำเป็นมากขึ้น

วันนี้ #เพื่อนชุมชน จะนำเกร็ดความรู้ ที่หลายๆ คนอาจไม่เคยรู้ความหมายของพลาสติกเเต่ละชนิดจริงๆ

ทำความรู้จักกับ ‘พลาสติกชีวภาพ’ กันก่อน
บางครั้งบางคนเรียกพลาสติกย่อยสลายได้ว่า ‘ไบโอพลาสติก’ หรือพลาสติกชีวภาพ ซึ่งอาจทำให้สับสนระหว่าง bioplastics กับ biodegradable plastics

พลาสติกชีวภาพ (bioplastics) คือชนิดของพลาสติกที่ต้องมีคุณสมบัติหนึ่งในสองข้อ คือ หนึ่งผลิตจากชีวมวล (biomass) หรือมีวัตถุดิบทางการเกษตร เป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการผลิต (bio-based) เช่น มันสำปะหลัง ฟางข้าว อ้อย ข้าวโพด หรือสอง ต้องสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (biodegradable) พลาสติกชนิดนี้ถูกคิดค้นเพื่อใช้วัตถุดิบที่สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้ง่ายอย่างชีวมวล มาผลิตพลาสติก แทนการใช้ปิโตรเลียมที่เป็นทรัพยากรที่มีวันหมด และลดการใช้พลังงานในการผลิต

พลาสติกชีวภาพจึงไม่จำเป็นที่จะต้องย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และมีทั้งแบบที่ย่อยสลายในสภาวะแวดล้อมธรรมชาติได้ และไม่ได้

พลาสติกย่อยสลายได้ในธรรมชาติ คืออะไรกันแน่
การสลายได้ (decompose) นั้นเป็นคุณสมบัติหนึ่งของพลาสติก (และสิ่งของทุกชนิด) อยู่แล้ว แต่การย่อยสลายของพลาสติกนั้นไม่สามารถย่อยได้ด้วยจุลินทรีย์เหมือนซากพืชซากสัตว์ ปัญหาคือเจ้าพลาสติกใช้เวลาย่อยนานหลายร้อยหรือหลายพันปี (จึงนิยมเรียกพลาสติกว่าย่อยสลายไม่ได้) และการสลายนั้นกลายเป็นไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในน้ำในดินและวนกลับเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ อีกทั้งระหว่างที่พลาสติกยังไม่ย่อยสลายนั้นสร้างปัญหาขยะมากมาย และเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลและสัตว์ป่าตามที่เราเห็นข่าวกันบ่อยครั้ง เพื่อแก้ปัญหานี้ ทางเลือกใหม่ที่เราได้ยินกันมากขึ้นวันนี้คือ ‘พลาสติกย่อยสลายได้ในธรรมชาติ’ ซึ่งเป็นการออกแบบวิธีเพื่อทำให้พลาสติกสามารถย่อยสลายได้เร็วขึ้น เป็นพิษต่อธรรมชาติน้อยลง ด้วยตัวแปรที่แตกต่างกัน

การย่อยสลายได้ของพลาสติกที่เราพบเห็นบ่อย
ในการย่อยสลายของพลาสติกชนิดที่เราพบเห็นกันในชีวิตประจำวัน แบ่งออกได้เป็น 3 แบบคือ

1. ย่อยสลายไม่ได้ (ในความหมายนี้คือใช้เวลานานในการย่อยสลาย) หรือพลาสติกที่ทำจากปิโตรเลียม

บางครั้งที่เราเห็นพลาสติกเสื่อมสภาพเมื่อโดนแดดเลีย นั่นคือกระบวนการ ‘Photodegradable’ หรือการเสื่อมสลายได้ด้วยแสงอาทิตย์ โดย Photodegradable Plastic คือพลาสติกทั่วไปที่เติมสารที่มีความไวต่อแสง (รังสียูวี) ลงในพลาสติก เพื่อให้พันธะสลายตัวง่ายขึ้น และแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ คุณสมบัตินี้ยังเป็นที่ถกเถียงกัน เพราะการย่อยด้วยแสงอาจต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี เเละการแตกตัวของพลาสติกนั้นอาจทำให้เกิดเป็นไมโครพลาสติกอยู่ดี รวมทั้งหากพลาสติกชนิดนี้หลุดไปยังหลุมฝังกลบที่ไม่ได้รับแสงหรือสภาพแวดล้อมมืดก็จะไม่สามารถย่อยสลายได้

2. ย่อยสลายได้บางส่วน คือพลาสติกที่แตกตัวได้ พลาสติกกลุ่มนี้มักถูกเรียกว่า พลาสติกย่อยสลายได้ในธรรมชาติ จึงเป็นที่นิยมใช้และสร้างความเข้าใจผิดกันมาก ว่าการแตกตัวได้คือการย่อยสลายได้

3. ย่อยสลายได้ 100% กลายเป็นปุ๋ย โดยมีมาตรฐานการย่อยสลายทางชีวภาพรับรอง

พลาสติกกลุ่มนี้ได้แก่ Compostable Plastic หรือ ‘พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ’ ซึ่งหมายถึง พลาสติกที่ทำมาจากพืช เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ทำให้สามารถสลายตัวเป็นแร่ธาตุและสารประกอบในธรรมชาติ หรือที่เรารู้จักกันในนามปุ๋ยหมัก โดยจะสามารถสลายตัวได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการหมักปุ๋ยระดับอุตสาหกรรมหรือเครื่องหมักปุ๋ยจากเศษอินทรีย์ โดยทั่วไประบบทำปุ๋ยหมักแบบอุตสาหกรรมจะใช้ความร้อน 55-60 องศาเซลเซียส หากหมักแบบครัวเรือนต้องใช้เวลานานขึ้น ซึ่งหากทิ้งพลาสติกชนิดนี้ไว้ในสภาพแวดล้อมทั่วไปก็จะไม่สามารถย่อยสลายได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าพลาสติกที่เราใช้ย่อยสลายได้จริงไหม?
มักมีความเข้าใจผิดระหว่าง ‘พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ’ (biodegradable) กับ ‘พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ’ (compostable) ซึ่งมีข้ออธิบายดังนี้ว่า พลาสติกแบบ biodegradable คือพลาสติกที่มีส่วนผสมที่ย่อยสลายได้ ซึ่งต้องได้รับการจัดการในสภาพแวดล้อมพิเศษ ส่วนพลาสติกแบบ compostable คือวัสดุทดแทนพลาสติกที่ทำมาจากพืช สามารถทิ้งรวมกับเศษอาหารและหมักเป็นปุ๋ยได้ แต่ควรได้รับการจัดการผ่านกระบวนการทำปุ๋ยหมักร่วมกับการจัดการเศษอาหารเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน เพื่อทำให้ย่อยสลายได้แบบปลอดภัยต่อโลกร้อยเปอร์เซ็นต์

* ทั้งนี้ความหมายและการใช้สื่อสารนั้นอาจแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการขยะและการผลิตวัสดุในประเทศนั้นๆ และในไทยยังไม่มีคำแปลอย่างเป็นทางการ

ทั้งที่ความจริงแล้วการย่อยสลายได้ ไม่ได้แปลว่าย่อยที่ไหนก็ได้ และใช้เท่าไหร่ก็ได้ เพราะการย่อยสลายทางชีวภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์เมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสมเท่านั้น ดังนั้นหากในประเทศไม่มีโครงสร้างระบบการจัดการขยะอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ หรือการจัดการขยะภายในประเทศยังไม่รองรับและปรับตัวตามไม่ทัน พลาสติกเหล่านั้นกลับกลายเป็นสร้างปัญหาใหม่ขึ้นอีก

ดังนั้น ปัญหาหลักของเกมการจัดการขยะนั้น ขึ้นอยู่กับโครงสร้างระบบการจัดการขยะอย่างถูกวิธีในประเทศ มาตรฐานการผลิต และการให้ความรู้ความเข้าใจต่อผู้บริโภคให้ใช้อย่างพอดี
ทั้งพลาสติกและพลาสติกย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ไม่มีใครเป็นพระเอกหรือตัวร้าย หากเราเข้าใจคุณลักษณะของวัสดุแต่ละชนิด ใช้อย่างเหมาะสม ทิ้งอย่างถูกทาง และมีระบบการกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งต้องการการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งโรงงานผู้ผลิตสินค้า ผู้บริโภค และภาครัฐ เพื่อสร้างตอนจบที่แฮปปี้เอนดิ้งของปัญหาการจัดการขยะสำหรับทุกคน

หรือถ้าเลือกได้ ก็ควรเลือกพลาสติกที่รีไซเคิลได้จะดีที่สุด 🙂

ขอบคุณที่มาดีๆ : Greenery