เจาะลึกเทรนด์สายอาชีพ EEC

เรียนอะไร รายได้ปัง ได้งานชัวร์

“…เรียนอาชีวะจบมา ไม่มีหลงทาง…”

จากบทความก่อนหน้านี้ที่ได้กล่าวถึง EEC โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่ไ่ด้สร้างหลักสูตร “Demand Driven” หลักสูตรที่เน้นผลิตคนให้มีคุณภาพ มีทักษะสูง มีความพร้อมในการทำงาน และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ (สามารถอ่านต่อได้ที่ https://bit.ly/3FPCRsz )

ครั้งนี้เราจึงจะพาไปเจาะลึกแต่ละสายอาชีพว่า อาชีพใดบ้างที่ตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรมได้อย่างตรงจุด

 

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ประเทศไทยแดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยว

 

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นที่นิยมอย่างมาก และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรให้กับประเทศไทยได้ อีกทั้งรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติโดยให้การสนับสนุนผ่านนโยบาย และมาตรการ ต่าง เช่น แผนการขยายระยะเวลาวีซ่า และมาตรการทางภาษี เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการค้า และยังเสริมสร้างให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ราคาที่เป็นมิตร และการมีบริการที่ประทับใจแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย

เมื่อประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอย่างเป็นทางการอีกครั้ง สิ่งสำคัญคือบุคลากรที่จะเข้ามารองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาเป็นจำนวนมาก โดยได้มีการประมาณการความต้องการบุคลากรนึ้ไว้ถึง 16,920 ตำแหน่ง และเปิดรับเป็นนักเรียน นักศึกษา ที่จบอาชีวศึกษาถึง 15,179 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นจำนวนการเปิดโอกาสสำหรับนักเรียน นักศึกษาสายอาชีวะเกือบ 100 %

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์

ยกระดับความสามารถด้วยนวัตกรรม

ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่สำคัญของอาเซียน โดยมุ่งเน้นการผลิตหุ่นยนต์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร จึงถือเป็นโอกาสทางธุรกิจในประเทศไทย ที่สำคัญสำหรับนักลงทุนทั่วโลก รัฐบาลจึงได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทยหลายแห่ง สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์จึงได้มีความต้องการบุคลากรที่เข้ามาร่วมพัฒนาเป็นจำนวนมากถึง 37,526 ตำแหน่ง และเปิดรับสายอาชีวะศึกษาที่มีความรู้ความสามารถกว่า 20.000 ตำแหน่ง ที่จะสามารถเข้ามาช่วยผลักดันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย ให้ก้าวหน้าและเติบโตไปในอนาคต 

อุตสาหกรรมดิจิทัล

นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่

จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย สร้างมูลค่าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยมีระบบนิเวศที่พร้อมจะพัฒนาสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะมีอุตสาหกรรมดิจิทัลที่แข็งแกร่ง โครงสร้างพื้นฐาน ICT ที่ล้ำสมัย และมีความต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสูง ทั้งนี้รัฐบาลจึงได้ตั้งนโยบาย Thailand 4.0 โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อจะขับเคลื่อนประเทศไทยให้กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทาง การลงทุนทางด้านดิจิทัลที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดังนั้น EEC จึงร่วมกับภาครัฐ เอกชน สถาบันต่างๆ และชุมชนในพื้นที่ EEC ผลักดันพื้นที่ให้มีศักยภาพสูงในการลงทุนทางด้านดิจิทัล รวมถึงร่วมกันผลักดันนักเรียน นักศึกษาสายอาชีวะให้มีคุณภาพ และศักยภาพในการรองรับการความต้องการบุคลากรสายงานอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่มีความต้องการสูงถึง 116,222 ตำแหน่ง และเปิดรับสายอาชีวศึกษาถึง 49,156 ตำแหน่ง

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

ความพร้อมของแรงงาน ที่มีความชำนาญ

จะช่วยเสริมฐานการผลิตและการส่งออกที่แข็งแกร่ง

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเสาหลักสำคัญในภาคการส่งออกของประเทศไทย เป็นฐานการผลิตและการส่งออกที่แข็งแกร่ง และที่สำคัญ ประเทศไทยเป็นผู้ผลิต และส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDDs) รายใหญ่ของโลก โดยนับเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 30 ของตลาดโลก ด้วยความสามารถทางการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยเป็นที่ยอมรับและอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก

ดังนั้นบุคลากรที่จะเข้ามาร่วมพัฒนา จึงจำเป็นต้องมี ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่จะช่วยสนับสนุน และขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีความต้องการบุคลากรที่เข้าร่วมงาน กว่า 58,000 หมื่นตำแหน่ง และเปิดรับนักเรียนนักศึกษาที่จบอาชีวศึกษากว่า 23,000 ตำแหน่ง

อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะก้าวสู่ผู้นำทางการแพทย์ และสุขภาพครบวงจร

โรงพยาบาลในประเทศไทยได้ดำเนินงานตามมาตรฐานสากล และมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ทั้งนี้ด้วยชื่อเสียง และความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประเทศไทยจึงเหมาะสำหรับการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมการแพทย์ และสุขภาพครบวงจร ในราคาที่เอื้อมถึง และพร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษา

ดังนั้นอุตสาหกรรมการแพทย์ยังคงมีความต้องการบุคลากรใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นอุตสหกรรมการแพทย์ชั้นนำระดับโลกที่มีความต้องการบุคลากร ประมาณ 11,538 ตำแหน่ง และเปิดรับสายอาชีวศึกษาถึง 5,080 ตำแหน่ง

Auto mechanic checking car

อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

เพิ่มมูลค่าพร้อมสร้างนวัตกรรมให้กับ อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย

ประเทศไทยสนับสนุนและพร้อมเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า จึงเป็น 1 ในสาขาอาชีพที่ต้องการนักเรียน นักศึกษา สายอาชีวศึกษาที่มีทักษะมาร่วมงาน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของอาเซียนในอนาคต  จึงมีความต้องการบุคลากรที่เข้าร่วมงาน กว่า 5 หมื่นตำแหน่ง และเปิดรับนักเรียนนักศึกษาที่จบอาชีวศึกษากว่า 40,000 ตำแหน่ง

อุตสาหกรรมระบบราง

พัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง พัฒนาทรัพยากรบุคคล 

พร้อมเสริมประสิทธิภาพระบบขนส่งทางราง และความปลอดภัยในการเดินรถไฟ

เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศ และสากล

การพัฒนาระบบรางในประเทศไทยได้มีการขยายตัวมากขึ้นทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่และ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม ระบบรางได้ โดยเฉพาะการวางแผนการเดินรถ และซ่อมบำรุง การก่อสร้างและงานระบบ และการบริหารจัดการขนส่ง

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับระบบราง จึงเป็นแผนพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ในเขตพื้นที่ EEC โดยจะมีการส่งเสริมให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และการพัฒนา ระบบรถไฟทางคู่ในประเทศไทยที่กำลัง มีการขยายเส้นทางเพิ่มมากขึ้น และประเทศไทยก็ยังมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนระบบรางของภูมิภาคได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับอิตาลี และสหภาพยุโรป (EU) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทยอีกด้วย

ดังนั้น EEC จึงได้ประมาณการความต้องการบุคลากรในสาขาอาชีพอุตสาหกรรมระบบราง ทั้งหมด 24,246 ตำแหน่ง และเป็นสายอาชีวศึกษาถึง 20,589 ตำแหน่ง

อุตสาหกรรมการบิน และโลจิสติกส์

สภาพภูมิประเทศที่มีความได้เปรียบ ฐานการผลิตที่ยอดเยี่ยม

และการบริการเหนือความคาดหวัง

ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่สำคัญ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความต้องการการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมการบิน และโลจิสติกส์  ด้วยจำนวนเครื่องบินในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น โอกาสทางธุรกิจก็มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการบิน และ อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งจะช่วยรองรับการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน และส่วนประกอบอื่น ที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานของภูมิภาคได้

ดังนั้นอุตสาหกรรมการบิน และโลจิสติกส์ จึงมีความต้องการบุคลากรเป็นเป็นจำนวนมาก รวมแล้วกว่า 140,000 ตำแหน่ง แบ่งเป็น อุตสาหกรรมการบิน 32,836 ตำแหน่ง เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาสายอาชีวศึกษาจำนวน 3,713 ตำแหน่ง และ โลจิสติกส์ มีความต้องการบุคลากรถึง 109,910 ตำแหน่ง เปิดรับนักเรียน นักศึกษาที่จบสายอาชีวศึกษาถึง 65,940 ตำแหน่ง

การเดินไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาทักษะบุคลากรตามแนวทาง EEC Model จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ทุกฝ่ายต้องก้าวออกมาจากระบบความคิดเดิมๆ เรื่องการศึกษา และร่วมมือกัน ทั้งสถานศึกษา ภาครัฐ และเอกชน รวมไปถึง ผู้บริหาร ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และนักเรียน เปิดกว้างในการเรียนการศึกษาสายอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นสายการเรียนที่สามารถทำให้น้องๆ ได้แสดงทักษะ และมีศักยภาพของตนเองได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เรียนจบมากก็มีตำแหน่งที่รองรับมากมาย จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ร่วมแล้วกว่า 400,000 ตำแหน่ง

เพื่อเป็นการให้ความรู้ ความเข้าใจในการเรียนสายอาชีวศึกษามากยิ่งขึ้นสมาคมเพื่อนชุมชน จึงเห็นแนวทางในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเทรนด์สายอาชีพให้กับนักเรียน นักศึกษาในจังหวัดระยอง โดยการจัดโครงการเพื่อนชุมชนคนอาชีวะ CPA V – Camp ปี 3ที่จะพาน้อง ไปเจาะลึกเทรนด์สายอาชีพ EEC “เรียนอะไร รายได้ปัง ได้งานชัวร์แบบ New Normal ผ่านโปรแกรม Zoom ในวันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 13.00 .เป็นต้นไป สามารถดูรายละเอียดและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Page : www.facebook.com/puenchumchon

และบทความต่อไปเราจะพาทุกท่านเจาะลึกสถาบันการศึกษา และสาขาวิชาสายอาชีพที่เรียนไปแล้ว ได้งานชัวร์ รายได้ดี ห้ามพลาด !

ข้อมูลอ้างอิงจาก

www.eeco.or.th