#สัตว์ที่มากับฝน มีอะไรบ้าง?

สัตว์ร้ายที่มากับสายฝน มีอะไรที่เราควรรู้จักและป้องกันบ้าง จะได้ไม่เจ็บป่วยหรือเดือดร้อนเพราะสัตว์หน้าฝนเหล่านี้

.

สายฝนนำพาความชุ่มฉ่ำมาให้เราได้ชื่นใจ แต่นอกจากความเย็นสบายก็อย่าลืมว่าฝนตก น้ำท่วมทีไร สัตว์ทั้งร้ายและไม่ร้ายก็ชอบหนีน้ำมาแอบเข้าบ้านเราบ้าง หรืออยู่ตามแหล่งน้ำท่วมขังให้เราเสี่ยงต่ออันตราย ดังนั้นก่อนที่เราจะโดนสัตว์ที่มากับหน้าฝนกัดหรือทำให้รำคาญใจ ลองมาสำรวจกันค่ะว่าสัตว์ที่มาพร้อมกับสายฝนจะมีตัวอะไรบ้าง

.

1. #งู

สัตว์มีพิษร้ายแรงอันดับต้น ๆ ที่เราอยากเตือนให้ระวังกันให้ดี เพราะในฤดูฝนแบบนี้งูมักจะหนีน้ำมาอาศัยบ้านคนอยู่ ไม่ก็มักจะเจองูขดตัวอยู่ในรองเท้า ตู้ไปรษณีย์ เป็นต้น บางทีก็อาจโผล่มาจากชักโครกอย่างที่เคยเห็นข่าวกัน

ทั้งนี้จากข้อมูลของสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ระบุว่า งูพิษที่พบมากที่สุดในไทยคือ งูพิษที่มีผลต่อระบบประสาท อันได้แก่ งูเห่า งูเห่าพ่นพิษสยาม งูจงอาง งูสามเหลี่ยม โดยพิษงูจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต โดยเริ่มจากกล้ามเนื้อมัดเล็กไปจนถึงมัดใหญ่ อาการหลังโดนงูกัดเริ่มต้นจึงจะหนังตาตก กลืนน้ำลายลำบาก พูดอ้อแอ้ ไปจนถึงหยุดหายใจ หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต

งูมีพิษอีกหนึ่งชนิดที่พบได้บ่อยก็คืองูมีพิษต่อระบบเลือด เช่น งูแมวเซา และงูกะปะ หากถูกกัดจะมีอาการปวดบวมรอบแผล หรือพบตุ่มน้ำเลือดและมีเลือดออกจากแผล ส่วนพิษงูเขียวหางไหม้จะทำให้เกิดอาการบวมลุกลาม เพราะพิษทำให้เลือดในกายไม่แข็งตัว จะพบเลือดออกไม่หยุดในอวัยวะภายใน อย่างช่องท้อง ไรฟัน สมอง หรืออาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันจนถึงแก่ชีวิตได้

2. #ตะขาบ

ไม่ใช่รูปร่างหน้าตาน่ากลัวเท่านั้น แต่พิษของตะขาบก็อันตรายใช่ย่อยค่ะ ยิ่งในหน้าฝนที่สภาพภูมิอากาศชื้น ๆ อย่างนี้ เราก็จะเห็นตะขาบชุกชุมมากขึ้น ซึ่งตัวตะขาบเองจะมีพิษอยู่ที่เขี้ยว 1 คู่ โดยอยู่ที่ปล้องแรกของลำตัว เมื่อโดนตะขาบกัดจึงจะเห็นเป็นรอยเขี้ยวมีจุดเลือด 2 จุด ลักษณะแผลเหมือนจะเป็นรอยไหม้ ซึ่งหลังจากกัดไปแล้ว พิษของตะขาบจะแผ่ซ่าน เกิดอาการบวมแดง ปวด แสบร้อน อาเจียน ปวดหัว มึนงง จนกระทั่งเป็นอัมพาตในบริเวณแผลที่ถูกตะขาบกัด หรืออาจได้รับเชื้อแบคทีเรียจากคมเขี้ยวของตะขาบแทรกซ้อนไปในแผลด้วยนะคะ แต่ทั้งนี้พิษของตะขาบก็ไม่รุนแรงถึงกับทำให้เสียชีวิตได้

3. #คางคก

คางคกเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีพิษเป็นเมือกสีขาว ซึ่งเราจะคุ้นหูมากกว่าถ้าเรียกยางคางคก โดยต่อมพิษของคางคกจะอยู่ที่เส้นสันหลัง และเครื่องในบางส่วน ซึ่งหากเราโดนพิษคางคกสัมผัสผิว จะเกิดอาการระคายเคืองแต่ไม่มากพอจะส่งผลต่อระบบอื่น ๆ อีกได้

ทว่าสำหรับคนที่กินคางคกเพื่อหวังเป็นยาชูกำลัง (ซึ่งไม่ช่วยบำรุงสุขภาพได้จริง) อาจเกิดอันตรายได้ค่ะ โดยอาการแพ้พิษจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ส่วนมากจะเกิดหลังจากกินคางคกไปแล้วหลายชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องร่วง โดยบางคนอาจมีอาการวิงเวียน สับสน เห็นภาพเป็นสีเหลือง และสติเริ่มลดน้อยลง บางคนมีอาการเพ้อ ง่วงซึม มีอาการทางจิตประสาทร้ายแรงถึงขั้นชักและหมดสติ หรือหากถอนพิษไม่ทัน ผู้ป่วยจะมีอัตราการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ จนกระทั่งตกอยู่ในสภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด

4. #แมลงก้นกระดก

แมลงก้นกระดก (Rove Beetle) หรือในชื่อ ด้วงก้นกระดก ด้วงปีกสั้น ด้วงก้นงอน และแมลงเฟรชชี่ จะพบได้มากบริเวณใกล้แหล่งน้ำ นาข้าว หรือตามพงหญ้า โดยเฉพาะในหน้าฝนจะมีการระบาดของแมลงชนิดนี้ในต่างจังหวัด หรือบนตึกสูง ๆ ก็พบได้บ้างเช่นกัน

ทั้งนี้ แมลงก้นกระดกก็ไม่ใช่สัตว์ปีกที่น่าคบหาเท่าไรค่ะ เพราะมีพิษแสบร้อนมาก เนื่องจากของเหลวในร่างกายของแมลงก้นกระดกจะมีสาร พีเดอริน (Paederin) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งสารพิษชนิดนี้สามารถทำลายผิวหนังและเซลล์เนื้อเยื่อ เมื่อเราสัมผัสโดน แมลงก้นกระดกก็จะปล่อยของเหลวออกมา ทำให้ปวดร้อน คัน ปวดแสบ ผิวไหม้ มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ เป็นหนองขึ้นตามบริเวณผิวหนังที่โดนสัมผัส

5. #กิ้งกือ

สัตว์ร้อยขาอีกชนิดที่หลายคนเห็นแล้วขนลุกซู่ซ่าอย่างกิ้งกือ ก็เป็นสัตว์ที่มากับหน้าฝนและความอับชื้นเช่นกันค่ะ และเห็นกิ้งกือม้วนตัวกลม ๆ แข็งทื่ออย่างนี้ เขาก็มีพิษเหมือนกันนะ โดยกิ้งกือบางชนิดสามารถปล่อยพิษที่เป็นของเหลวออกจากบริเวณรอยต่อของข้อปล้องได้ หรือบางชนิดอาจปล่อยก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ออกมาเพื่อป้องกันตัว ซึ่งจริง ๆ แล้วสารพิษดังกล่าวไม่ค่อยส่งผลกับมนุษย์เราเท่าไร เว้นแต่ว่าคนที่มีผิวบอบบางแพ้ง่าย อาจเกิดอาการแสบ คัน หรือเห็นเป็นรอยแดง ๆ ตามผิวหนังที่สัมผัสกิ้งกือได้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่เป็นอันตรายมากจนน่าห่วงค่ะ

ขอบคุณที่มา : Kapook