ในภาวะที่มีการแพร่ระบาดของโรคร้ายอย่าง #โควิด-19 เป็นธรรมดาที่ทำให้รู้สึกเครียด หรือกังวล ซึ่งแต่ละคนอาจมีความกังวลไม่เหมือนกัน เช่น กลัวจะล้มป่วยหรือเสีย ชีวิต กลัวจะปกป้องครอบครัวหรือคนที่ตนเองรักไม่ได้ เครียดเรื่องเศรษฐกิจและ ค่าใช้จ่ายในครอบครัว
.


ย่อมทำให้เกิดความเครียดเป็นธรรมดา ในช่วงภาวะวิกฤตเช่นนี้ เราจะมีวิธีปรับใจตัวเองได้อย่างไรบ้าง #มาดูกันเลย!
1. ปรับมุมมอง
แน่นอนว่าในสถานการณ์ตอนนี้หากมองไปรอบๆ ตัว สิ่งต่างๆ ก็ดูเหมือนจะแย่ไปเสียหมด แต่หากเราลองปรับมุมมองของเราให้เห็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในวิกฤติเช่นนี้ได้ ก็จะทำให้เรารู้สึกมีความหวังในการดำเนินชีวิตมากขึ้น เช่น การทำงานจากที่บ้านอย่างน้อยก็ทำให้เรา มีเวลามากขึ้นอีกวันละ 1-2 ชั่วโมง เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาไปกับการจราจรที่ติดขัด ประหยัดเงินมากขึ้นเนื่องจากไม่ต้องเสียค่าเดินทาง เป็นต้น
2. เข้าใจและยอมรับความแตกต่าง
ในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวอาจมี การตอบสนองต่อเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน เป็นโอกาสดีที่คนในครอบครัว จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ไม่มีใครสามารถบังคับหรือเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นและพฤติกรรมของอีกฝ่ายได้ สมาชิกควรเรียนรู้ที่จะรับฟัง เข้าใจ และยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างไป การเริ่มต้นที่จะเปิดรับฟังความคิดของสมาชิกในครอบครัว จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะวางแผนแก้ปัญหาและผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
3. สื่อสารอย่างสร้างสรรค์
ในสถานการณ์เช่นนี้ ทุกคนในครอบครัวต่างมีความเครียด และต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง การสื่อสารที่สม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญให้สมาชิกสามารถถามและบอกความต้องการแบบตรงไป ตรงมา งดการตำหนิหรือประชดประชัน สมาชิกแต่ละคนสามารถที่จะพูดคุยแบ่งปัน รับฟังและปลอบใจซึ่งกันและกัน ในบรรยากาศที่เป็นมิตรและไม่ตัดสิน
4. พยายามจัดกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ให้เป็นตารางสม่ำเสมอ
สมาชิกในครอบครัวควรมีการพูดคุยกัน เพื่อแบ่งปันหน้าที่ความรับผิดชอบในครอบครัวให้เหมาะสมตามชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น พ่อกับแม่อาจสลับกันดูแลลูกเป็นช่วงเวลา สมาชิกอาจแบ่งกันรับผิดชอบงานบ้าน เป็นต้น
5. การจัดระยะห่าง
ในช่วงเวลาที่ต้องใช้เวลาอยู่ในบ้านร่วมกันมากขึ้น ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้ดังเดิม อาจทำให้สมาชิกบางคนรู้สึกอึดอัด สมาชิกคนอื่น ๆ อาจช่วยได้โดยการเข้าใจ และเคารพในความแตกต่างของขอบเขตระหว่างบุคคล ความต้องการพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละคน ให้เวลาและพื้นที่ที่เขาจะได้ใช้เวลาส่วนตัวบ้าง หากเราสามารถรักษาสมดุลของระยะใกล้ห่างนี้ได้ ก็จะทำให้ สมาชิกรู้สึกสบายใจและไม่อึดอัดเวลาอยู่ร่วมกัน
6.ติดต่อสื่อสาร และขอความช่วยเหลือจากชุมชนภายนอกครอบครัว ในช่วงนี้หลาย ๆ คนอาจไม่ได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนหรือญาติพี่น้องแบบเดิม แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่สามารถเดินทางไปพบเจอหน้ากันได้ การพูดคุยกันผ่านโทรศัพท์ วิดีโอคอล ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกได้ใกล้ชิดกัน แบ่งปันเรื่องราว เล่าสารทุกข์สุกดิบให้แก่กันฟัง ก็จะช่วยคลายความเหงาลงได้ ในบางครอบครัวที่ผู้ปกครอง จะต้องทำงาน ทำให้ไม่มีเวลาดูแลลูก อาจลองขอความช่วยเหลือจากเพื่อนหรือญาติพี่น้อง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ หรือหากเกิดความเครียดมาก ก็ไม่ควรที่จะเก็บไว้คนเดียว ควรมองหาวิธีการผ่อนคลายความเครียด ปรึกษาคนใกล้ชิด หรือขอการสนับสนุนช่วยเหลือจากคนรอบตัว ชุมชน หรือองค์กรต่าง ๆ

ขอบคุณที่มา : สสส.
#สุขภาพ #สุขภาวะ #สุขภาพจิต