“คิดก่อนทิ้ง… ขยะตัวร้าย”
ชาวโลกหรือชาวไทย อาจได้ยินเรื่องปัญหาขยะพลาสติกมาหลายปีแล้ว แม้แต่ทุกวันนี้ ยังได้ยินกันอยู่ นั่นเพราะปัญหาเรื่องนี้ยังไม่หมดสิ้น ไม่ลดลง แถมยังเพิ่มขึ้น ตามกาลเวลาด้วยซ้ำ
สำหรับใครที่ยังมีคำถามว่า ทะเลมีขยะแล้วไง ? สามารถไปหาข้อมูลได้ทั่วไป แต่ภาพของเต่าทะเลที่ต้องตายเพราะกินถุงพลาสติกเข้าไป เท่านี้ก็น่าสลดใจมากพอแล้ว ซึ่งแน่นอนยังหมายถึงสัตว์อื่นอีกนับจำนวนมหาศาลในท้องทะเลทั้งสิ้น
รวมไปถึงผลกระทบไปยังบรรดาปะการังอีกมากมาย โดยพลาสติกไปสร้างบาดแผลบนพื้นผิวที่บอบบางของปะการังเมื่อเกิดการเสียดสี ทำให้แบคทีเรียปนเปื้อนได้ง่าย และปะการังจะตายในที่สุด
หันมาดูตัวเลขของบ้านเราบ้าง สำหรับไทยเรามีจังหวัดที่มีชายฝั่งติดทะเล 23 จังหวัด มีขยะเฉลี่ยรวมกว่า 10 ล้านตันต่อปี ขยะกว่าครึ่งกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง และร้อยละ 10 ของขยะที่กำจัดไม่ถูกต้อง หรือขยะ 1 ล้านตันต่อปีจะถูกพัดพาลงทะเล ยังไม่นับรวมขยะที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลอีกด้วย (ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
ถ้ายังไม่ตกใจมากพอ มาดูตัวเลขใหม่ล่าสุดของปีนี้กัน มีข้อมูลจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานตัวเลขของปริมาณขยะที่พบในทะเลไทยปี 2561 นี้ (ซึ่งเพิ่งเข้าเดือนที่ 4 เท่านั้น) แยกประเภทและจำนวนที่พบเรียงลำดับได้ดังนี้
1.ขวดเครื่องดื่ม (พลาสติก) 6,517 กิโลกรัม 2.ถุงพลาสติกอื่นๆ พบ 5,276 กิโลกรัม 3.ขวดเครื่องดื่ม (แก้ว) พบ 4,721 กิโลกรัม 4.หลอด/ที่คนเครื่องดื่ม 1,895 กิโลกรัม 5.ถ้วย/จาน (โฟม) พบ 1,853 กิโลกรัม 6.ห่อ/ถุงอาหาร (ทอฟฟี่), มันฝรั่งอบกรอบ อื่นๆ) 1,555 กิโลกรัม 7.ถุงก๊อบแก๊บ 1,543 กิโลกรัม และ 8.กล่องอาหาร (โฟม) 1,340 กิโลกรัม 9.กระป๋องเครื่องดื่ม 1,298 กิโลกรัม 10.เชือก (1 เมตร = 1 ชิ้น) 1,166 กิโลกรัม รวมแล้วเพียงต้นปีนี้ พบขยะ 10 อันดับแรกนี้ถึง 27,614 กิโลกรัม !!
นอกจากนี้ ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราจะได้ยินข่าวคราวของการพบสัตว์ทะเลเกยตื้นและตายอยู่บ่อยครั้ง แม้แต่ในประเทศไทย ปีที่แล้ว ทช.รายงานตัวเลขว่า พบว่าสัตว์ทะเล “หายาก” เกยตื้นระหว่างปี 2558-2560 จำแนกได้ดังนี้
1.กลุ่มเต่าทะเลจำนวน 669 ตัว แบ่งเป็น เกยตื้นมีชีวิตจำนวน 334 ตัว (คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์) และซากเกยตื้น 335ตัว (คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์)
2.กลุ่มโลมาและวาฬจานวน 547 ตัว แบ่งเป็นเกยตื้นมีชีวิตจำนวน 51 ตัว(คิด เป็น 9 เปอร์เซ็นต์) และซากเกยตื้น 496ตัว (คิดเป็น 91 เปอร์เซ็นต์)
3.กลุ่มพะยูนจำนวน 41 ตัว แบ่งเป็นเกยตื้นมีชีวิตจำนวน 6 ตัว (คิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์) และซากเกยตื้น 35 ตัว (คิดเป็น 85 เปอร์เซ็นต์)
รวมสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นทั้งหมดตลอด 3 ปีที่ผ่านมามีจานวน 1,257 ตัว
สำหรับสาเหตุของการเกยตื้นของบรรดาสัตว์ทะเลเหล่านี้ ทช.ระบุว่า หากดูจำนวนการตายของสัตว์ทะเลหายาก ไม่ว่าจะเป็นโลมา วาฬ เต่าทะเล หรือพะยูน สาเหตุหนึ่งมาจากการติดเครื่องมือประมง แต่สาเหตุที่มาจากการกิน “ขยะทะเล” จึงได้ถูกยกขึ้นเป็นหนึ่งในงานเร่งด่วน ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้กำหนดแนวทางด้านต่างๆ เพื่อลดจำนวนการตายของสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้
ส่วนการเกยตื้นของโลมาและวาฬส่วนใหญ่ ที่พบเกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ 63% แต่ก็ต้องยอมรับว่า อีกหนึ่งในสาเหตุก็มักเกิดจากเครื่องมือประมงและขยะในทะเล ขณะที่สาเหตุการเกยตื้นหลักๆ สำหรับเต่าทะเลแลพะยูนส่วนใหญ่เกิดจากเครื่องมือประมง แต่ก็มีเรื่องของขยะทะเลที่เป็นสาเหตุหนึ่งเช่นเดียวกันทั้งสิ้น
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ เนชั่น
Leave A Comment