“สงกรานต์” นี้ควรปฏิบัติตัวยังไงในช่วง “โควิด-19” ระบาด?
กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวัฒนธรรม ออกมาให้ข้อมูลและคำแนะนำในช่วงวัน “สงกรานต์” ที่กำลังจะมาถึงท่ามกลางสถานการณ์ “โควิด-19” ระบาด ว่าประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อช่วยลดการระบาดลงให้ได้
“ปีใหม่ไทย” หรือ “สงกรานต์” ของปีนี้คงจะเงียบเหงากว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา เพราะสถานการณ์โรคระบาด “โควิด-19” ยังคงไม่สงบและพบผู้ติดเชื้อในเมืองไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน ในสถานการณ์แบบนี้จึงทำให้คนไทยอาจจะต้องงดการฉลองสงกรานต์และเล่นสาดน้ำ แต่เปลี่ยนมาเป็นการแสดงความรักความห่วงใยต่อญาติผู้ใหญ่ในแบบอื่นๆ แทน

หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติว่าให้เลื่อนเทศกาล “สงกรานต์” ในวันที่ 13-15 เมษายน ออกไปจนกว่าสถานการณ์โรคระบาด “โควิด-19” จะคลี่คลาย (ชดเชยวันหยุดให้ภายหลัง) จากคำสั่งนี้ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาให้คำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับวิธีการปฏบัติตัวในช่วง “สงกรานต์” ให้เหมาะสมเพื่อช่วยกันป้องกันการระบาดของโควิด-19 ให้เข้มข้นมากขึ้น

มีข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันผู้สูงอายุในปีนี้ ลูกหลานชาวไทยต้องปรับตัวและเปลี่ยนวิธีแสดงความกตัญญูต่อญาติผู้ใหญ่ รวมถึงเปลี่ยนการฉลอง “สงกรานต์” งดการเล่นสาดน้ำ งดการเดินทางไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และระมัดระวังไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคระบาด โดยมีคำแนะนำดังนี้

1. คนไกลที่อยู่ห่างบ้านกับผู้สูงอายุ ขอให้อยู่ที่พักของตนเอง ไม่ควรเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อกลับภูมิลำเนาไปไหว้อวยพรพ่อแม่และผู้สูงอายุในวัน “สงกรานต์” แนะนำให้แสดงความกตัญญูทางไกล เช่นโทรศัพท์คุยกัน คุยผ่านไลน์ หรือคุยแบบเห็นหน้าผ่านทางวิดีโอคอล

2. คนใกล้ที่อยู่บ้านเดียวกันกับผู้สูงอายุ ไม่แนะนำให้มีการรดน้ำดำหัวในครอบครัวในวัน “สงกรานต์” ไม่กอดหอมผู้สูงอายุ แต่ให้แสดงความกตัญญูต่อผู้สูงอายุโดยเว้นระยะห่าง 1-2 เมตรในการทำกิจกรรมในครอบครัว ทั้งนี้ อัตราการเสียชีวิตหลังการติดโควิด-19 ในผู้ที่มีอายุมากจะสูงกว่าในคนที่อายุน้อย เป็นข้อมูลที่เหมือนกันทั้งข้อมูลทั่วโลกและประเทศไทย โดยจากข้อมูลผู้เสียชีวิตในประเทศไทย 20 ราย พบว่าเป็นผู้สูงอายุ 9 ราย เกือบ 50%

3. คนใกล้ที่อยู่บ้านเดียวกันกับผู้สูงอายุ หลังทำงานเสร็จพอกลับถึงบ้านล้างมือให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย เน้นล้างมือบ่อยๆ

4. การดูแลผู้สูงอายุช่วงเทศกาล “สงกรานต์” งดพาผู้สูงอายุออกนอกบ้าน หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหาร และล้างมือหลังใช้ห้องน้ำ ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก กินร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว แยกสำรับอาหารและแยกของใช้จำเป็นของผู้สูงอายุ อย่าให้ปะปนกับของลูกหลาน

5. ระมัดระวังและเตือนผู้สูงอายุ ให้เว้นระยะห่างจากบุตรหลานและผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร

ส่วนทางกระทรวงวัฒนธรรม ก็ได้มีคำแนะนำและออกประกาศเรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง รวมทั้งควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 โดยมีข้อมูลที่ประชาชนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในช่วงวันสำคัญทางประเพณีและทางศาสนาต่างๆ และรวมถึงเทศกาล “สงกรานต์” คือ

แนวทางปฏิบัติวันสำคัญทางศาสนา ประเพณีสำคัญ และงานบุญ ควรงดการเข้าร่วมกิจกรรม ณ ศาสนสถาน โดยให้ใช้ช่องทางสื่อสารออนไลน์แทน เช่น การฟังธรรมะออนไลน์ งดการใช้มือหยิบข้าวใส่บาตรพระภิกษุ สำหรับเทศกาลไหว้บรรพบุรุษ (เช็งเม้ง) ให้งดการเดินทางไปกราบไหว้บรรพบุรุษ ณ สุสาน (ฮวงซุ้ย) โดยให้จัดพิธีกราบไหว้บรรพบุรุษ ที่บ้านแทน และงดการรวมญาติ

ส่วนในกรณีเทศกาลประเพณี “สงกรานต์” ให้ปฏิบัติตัว ดังนี้

1. งดเว้นการจัดงาน “สงกรานต์” ในทุกระดับ

2. งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา

3. งดเว้นการรดน้ำดำหัวขอพรญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี

4. งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด

5. เพื่อสืบสานประเพณี “สงกรานต์” ให้สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน

6. เพื่อสืบสานประเพณี “สงกรานต์” ให้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ด้วยการกราบไหว้ขอพร โดยเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

7. การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ไกลกัน ให้ใช้การสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ หรือช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนี้ ประกาศฉบับนี้มีผลตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ขอบคุณข้อมูล : bangkokbiznews.com
#เพื่อนชุมชนบ้านเราน่าอยู่สังคมยั่งยืน