สวัสดีครับสมาชิกเพื่อนชุมชน หลายคนคงส่งสัยว่า ภาวะออทิสซึม คืออะไร? วันนี้เรามาศึกษากันดูครับ….

ภาวะออทิสซึม #Autism คือ ความบกพร่องของพัฒนาการในหลายๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาษา การติดต่อสื่อสาร ทักษะทางด้านสังคม การสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ

เด็กที่มีภาวะออทิสซึมมักจะแสดงอาการ หรือพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น กระโดด โยกตัว หรือให้ความสนใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป ทำกิจวัตรเดิมๆ มีการตอบสนองต่อระบบประสาทสัมผัสต่างๆ มากเกินไปหรือน้อยเกินไป เช่น ทนต่อความเจ็บได้มากกว่าปกติ ในบางรายอาจซนมากกว่าปกติ หุนหันพลันแล่น ไม่กลัวอันตราย มีปัญหาด้านการนอน ระดับความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ความบกพร่องดังกล่าวนี้มักจะแสดงให้เห็นตั้งแต่ในช่วง 3 ปีแรกของเด็ก

สาเหตุของภาวะออทิสซึม

ในปัจจุบันนี้ยังไม่ทราบว่าสาเหตุของภาวะออทิสซึมเกิดจากอะไรแน่นอน แต่จากการศึกษาเชื่อว่า เกิดจากการที่สมองมีสารสื่อประสาทบางตัวที่มีความผิดปกติ ทำให้ความบกพร่องในการประมวลผลและบูรณาการด้านประสาทสัมผัส ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการและพฤติกรรมที่ผิดปกติ

พันธุกรรมก็เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กมีภาวะออทิสซึม จึงพบเด็กที่มีพี่น้องที่เป็นออทิสซึม จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นด้วยเหมือนกัน เด็กผู้ชายจะมีความเสี่ยงมากกว่าเด็กผู้หญิง ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาภาวะนี้ให้หายขาดได้

เมื่อไหร่ควรสงสัยว่าจะเป็นภาวะออทิสซึม

เด็กที่เป็นออทิสซึม มักจะมีสัญญาณและอาการบกพร่องในเรื่องของการใช้ภาษา การสื่อสาร การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น

ด้านการสื่อสารและภาษา
– อายุ 1 ขวบไม่รู้จักชื่อตัวเอง
– อายุ 2 ขวบ ยังไม่พูดคำที่มีความหมายหรือพูดได้น้อยมาก
– พูดซ้ำๆโดยไม่มีความหมาย พูดเรื่อยเปื่อย ใช้ภาษาที่เข้าใจเองคนเดียว
– ไม่เข้าใจคำสั่งหรือคำถามง่ายๆ
– ไม่สามารถบอกความต้องการของตนเองได้

ด้านทักษะการเข้าสังคม
– ไม่สนใจคนอื่น ชอบแยกตัวเล่นคนเดียว ไม่สนใจเล่นกับใคร เล่นกับเพื่อนไม่เป็น
– ไม่มองหน้า ไม่สบตาผู้อื่น แต่ชองมองพัดลม หรือล้อรถที่หมุน หรือมองไฟบนเพดาน
– ไม่ชอบให้ใครมาสัมผัสถูกตัว
– ไม่สามารถเลียนแบบการกระทำของคนอื่นได้
– ไม่สามารถช่วยตนเองให้พ้นจากอันตรายต่างๆได้

ด้านพฤติกรรม อารมณ์ การเล่น
– เด็กจะแสดงพฤติกรรมซ้ำๆ เช่นสะบัดมือ หมุนตัว โยกตัว หรือเคลื่อนไหวตลอดเวลา
– ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เช่นถ้าตารางเวลาในชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป เด็กจะหงุดหงิดและอดทนยอมรับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้
– มีอารมณ์แปรปรวนง่าย เมื่อถูกขัดใจจะมีการแสดงอารมณ์มากกว่าปกติ เช่น กรีดร้อง ตี หยิก กัดผู้อื่น เอาหัวโขกพื้นหรือลงไปนอนดิ้นเป็นเวลานานๆ
– ให้ความสนใจหรือหมกมุ่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะตัวเลขหรือสัญลักษณ์ เช่น ป้ายทะเบียน แผนที่ ยี่ห้อรถ
– ติดของที่แปลกๆ เช่น ชอบถือช้อนส้อม กุญแจ หลอด
– เล่นของเล่นไม่เป็น ไม่ถูกตามลักษณะของของเล่นนั้นๆ
– เล่นอะไรที่แปลก เช่นหมุนล้อรถแล้วนั่งมอง แทนที่จะนำรถไถไปเหมือนเด็กปกติ
– เล่นสมมติไม่เป็น

อาการดังกล่าวต้องดูหลายๆอย่างรวมกัน ไม่ใช่ว่ามีอาการบางข้อแล้วจะเป็นภาวะออทิสซึมเสมอไป

พ่อแม่ควรทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่าลูกมีภาวะออทิสซึม

เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตพบพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่าจะเป็นออทิสซึม ไม่ควรละเลยหรือนิ่งนอนใจ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทางด้านพัฒนาการเด็ก หรือจิตเวชเด็กเพื่อทำการวินิจฉัย โดยทั่วไปกว่าแพทย์จะให้การวินิจฉัย อาจจะต้องคอยสังเกตอาการและพฤติกรรมเด็กเป็นเดือนๆ หรือบางรายอาจจะเป็นปี

ขอบคุณข้อมูล : becomemom.com
#เพื่อนชุมชนบ้านเราน่าอยู่สังคมยั่งยืน