“New Normal”

เปิดนิยามคำว่า “New Normal” ที่เกิดขึ้นในยุค “COVID-19” ที่ผลักให้ผู้คนทั่วโลกเข้าสู่ “ความปกติรูปแบบใหม่” ในทุกๆ ด้าน ทั้งไลฟ์สไตล์ ธุรกิจ สาธารณสุข การศึกษา โดยเฉพาะมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 2 ของไทยทำให้เห็นรูปแบบ “New Normal” ชัดเจนขึ้น


“New Normal” คืออะไร?
เมื่อไม่นานมานี้ ราชบัณฑิตยสภา ได้บัญญัติศัพท์ “New Normal” เพิ่มเข้ามา แปลว่า ความปกติใหม่ , ฐานวิถีชีวิตใหม่ หมายถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีต อันเนื่องจากมีบางสิ่งมากระทบ จนแบบแผนและแนวทางปฏิบัติที่คนในสังคมคุ้นเคยอย่างเป็นปกติและเคยคาดหมายล่วงหน้าได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ภายใต้หลักมาตรฐานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย

รูปแบบวิถีชีวิตใหม่นี้ ประกอบด้วยวิธีคิด วิธีเรียนรู้ วิธีสื่อสาร วิธีปฏิบัติและการจัดการ การใช้ชีวิตแบบใหม่เกิดขึ้นหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงและรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้มนุษย์ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่าจะธำรงรักษาวิถีดั้งเดิมหรือหวนหาถึงอดีต

“New Normal” ด้านการศึกษา
มาถึงด้านการศึกษาไทยกันบ้าง พบว่าเด็กๆ ในยุคโควิด-19 ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนใหม่สะท้อน “New Normal” ที่ไม่ค่อยจะสะดวกทั้งกับผู้ปกครองและกับตัวเด็กเอง นั่นคือ “เรียนออนไลน์” ผ่านทางช่องทีวีดาวเทียม DLTV และเรียนผ่านแอพฯ เว็บไซต์ และช่อง youtube ของ DLTV ได้เช่นกัน แต่ปรากฏว่าเด็กๆ ประสบปัญหาการเรียนออนไลน์มากมายหลายอย่าง เช่น การจูนหาสัญญาณช่องไม่เจอ การโหลดแอปฯ ไม่ได้ หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องอุปกรณ์อย่างแล็ปท็อป มือถือ แท็ปเล็ต และการติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นต้น

“New Normal” ด้านไลฟ์สไตล์ ดูหนัง มหรสพ
ล่าสุด.. เมื่อมีมาตรการ “ผ่อนคลายระยะที่ 3” ทำให้โรงภาพยนตร์สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้แล้ว รวมถึงอนุญาตให้เปิดโรงละคร โรงมหรสพ โรงลิเกและลำตัดได้ (แต่ยังงดการจัดคอนเสิร์ตต่อไป) โดยต้องมีขั้นตอนในการควบคุมและป้องกันโรคตามมาตรการของกระทรวงสาธารสุขอย่างสเคร่งครัด ซึ่งทางผู้ให้บริการโรงภาพยนตร์บางเจ้าก็ได้ออกมาตรการและคู่มือการปฏิบัติตัวในโรงหนังตามแนวทาง New Normal มาให้ทราบกันแล้ว ดังนี้
– Screening: ตรวจคัดกรองลูกค้าทุกคน วัดอุณหภูมิ ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอลล์
– Social Distancing: เข้าแถวรอคิว เว้นระยะห่าง 1 เมตร และเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่ง ทุก 2 ที่นั่งในแถวเดียวกัน และแถวเว้นแถว
– Cleaning: ทำความสะอาดทุกจุดพื้นที่และภายในโรงภาพยนตร์ก่อนเข้าฉายแต่ละเรื่อง “ทุกรอบ”
– Cashless: ให้ลูกค้าใช้จ่ายโดยไม่ใช้เงินสด (E-Payment) ทั้งการซื้อตั๋วหนัง ป๊อปคอร์นและน้ำ
– Tracking: ติดตามและตรวจสอบ ทุกโรงจะมีการเช็คอิน-เช็คเอาท์ เพื่อสะดวกในการติดตามกรณีพบผู้ป่วย

“New Normal” ด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ
ในบริบทของการทำธุรกิจ ค้าขาย รวมถึงภาพใหญ่ในระบบเศรษฐกิจของไทย พบว่าผู้คนยุคโควิด-19 จำเป็นต้องอยู่บ้านมากขึ้น เกิดเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่คือ Work from Home ส่วนนักเรียนก็ต้องปรับตัวสู่การเรียนที่บ้านผ่านการ “เรียนออนไลน์” การจับจ่ายซื้อของต่างๆ ก็ต้องซื้อออนไลน์กันมากขึ้น ดังนั้นธุรกิจหรือการค้าขายในความปกติรูปแบบใหม่จึงหนีไม่พ้นการทำธุรกิจออนไลน์ โดยเฉพาะธุรกิจขายสินค้าและจัดส่งแบบ “เดลิเวอรี่” ที่พบว่าเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงนี้ ส่วนร้านอาหารก็ต้องปรับตัวสู่ New Normal เช่นกัน มีทั้งขายแบบเดลิเวอรี่ หรือบางร้านที่เปิดให้รับประทานที่ร้านได้แล้ว ก็ต้องมีการกั้นฉากให้ลูกค้าแต่ละคน ไม่ให้ลูกค้าใกล้ชิดหรือแออัดกัน และเว้นระยะห่างของการนั่งระหว่างโต๊ะอาหาร เป็นต้น

“New Normal” ด้านสาธารณสุขไทย
สำหรับ “New Normal” ในบริบท “COVID-19” นั้น เห็นได้ชัดเจนที่สุดในด้านของการสาธารณสุขของเมืองไทย โดยทาง ศบค. มีการประกาศมาตรการการป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ได้แก่
– สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเสมอ
– ต้องเว้นระยะห่าง 2 เมตร
– ล้างมือบ่อยๆ พกเจลแอลกอฮอล์
– หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
– หลีกเลี่ยงกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ที่มีอาการป่วย

“New Normal” ด้านการท่องเที่ยวไทย
พอถึงช่วงมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 2 ก็เริ่มประกาศให้ “ที่เที่ยว” บางแห่งกลับมาเปิดให้คนไทยไปเที่ยวได้แล้ว เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, อุทยานประวัติศาสตร์, หอสมุดแห่งชาติ, หอจดหมายเหตุ แต่ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เช่น การสวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือ, เว้นระยะห่าง เป็นต้น

เทรนด์พฤติกรรมแบบ New Normal
1. การใช้เทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ต
เทคโนโลยีควบคู่กับอินเทอร์เน็ตจะเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตมากขึ้น ที่จากเดิมมีมากอยู่แล้ว แต่ในสังคมยุค New Normal สิ่งเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในแทบทุกจังหวะชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การเรียนออนไลน์ การทำงานที่บ้าน การประชุมออนไลน์ การซื้อสินค้าออนไลน์ การทำธุรกรรม และการเอ็นเตอร์เทนชีวิตรูปแบบต่างๆ อย่างดูหนัง ฟังเพลง

2. การเว้นระยะห่างทางสังคม
ผู้คนในสังคมจะเห็นความสำคัญของการเว้นระยะห่างที่เป็นแนวทางการใช้ชีวิตช่วงวิกฤติโควิด-19 และจะดำเนินชีวิตแบบนั้นต่อไป โดยรักษาระยะห่างทางกายภาพเพิ่มขึ้น และใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการสื่อสารและการใช้ชีวิต ลดการปฏิสัมพันธ์ การไปในสถานที่สาธารณะ และเน้นการทำกิจกรรมที่บ้านมากขึ้น

3. การใช้เงินเพื่อการลงทุน
ยุค New Normal เป็นจังหวะที่ผู้คนยังระมัดระวังการลงทุนใหม่ๆ และลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน

4. การดูแลใส่ใจสุขภาพทั้งตัวเองและคนรอบข้าง
โดยเกิดความคุ้นชินจากช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ต้องดูแลด้านสุขภาพและความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ดังนั้นพฤติกรรมการใช้หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และการล้างมืออย่างถูกวิธี และหมั่นสังเกตตัวเองเมื่อไม่สบายจะยังคงมีต่อไป รวมถึงการหันมาใส่ใจสุขภาพ การออกกำลังกาย และการทำประกันสุขภาพจะมีแนวโน้มมากขึ้น

5. การสร้างสมดุลชีวิต
การมีโอกาสได้ทำงานที่บ้าน ลดจำนวนวันการเข้าออฟฟิศ หรือการลดการพะปะผู้คนในสังคม แล้วหันมาใช้ชีวิต และทำงานที่บ้าน ทำให้ผู้คนมองเห็นแนวทางที่จะสร้างสมดุลชีวิตระหว่างอยู่บ้านมากขึ้น และจะเป็นแนวทางในการปรับสมดุลชีวิตระหว่างเวลาส่วนตัว การงาน และสังคมให้สมดุลมากยิ่งขึ้น

ขอบคุณที่มา เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ